กาบหอยแครง (Dionaea muscipula)
กาบหอยแครงเป็นพืชกินแมลงที่พัฒนาส่วนปลายใบให้มีลักษณะกาบ 2ฝาสมมาตรในแนวก้านใบ สามารถจับแมลงเหยื่อโดยการรับสัมผัสด้วยกระเดื่องขนขนาดเล็ก (tiny hairs) จำนวน 3คู่บริเวณด้านในของกาบใบทั้ง 2ข้าง แมลงเหยื่อจะถูกงับด้วยกาบทั้ง 2ข้างภายในเวลาเสี้ยววินาที พร้อมกับแผงหนาม (cilia) บริเวณขอบกาบใบทำหน้าที่กรงป้องกันการหนี หากแมลงเหยื่อหนีไปได้กาบใบจะเปิดอีกครั้งภายในเวลา 12 ชั่งโมง
เนื่องจากกาบหอยแครงไม่มีการจัดแบ่งสายพันธุ์แท้ (species) หรือชนิดย่อย (variety) ความหลากหลายของสายพันธุ์จึงถูกจัดเป็น cultivars ซึ่งแบ่งความแตกต่างตามลักษณะทางกายภาพอย่างง่ายๆ เช่น สี , ขนาด , ลักษณะของแผงหนาม (cilia) ฯ ทำให้สามารถแบ่งกาบหอยแครงออกได้นับร้อยๆ cultivars ยกตัวอย่างเช่น Dionaea muscipula ‘Akairyu’ เป็นต้น
การปลูกเลี้ยงและดูแลกาบหอยแครง
กาบหอยแครง (VenusFlyTrap) ไม้กินแมลงสายโหดที่ได้รับความนิยมตลอดกาล ผมขอแชร์การปลูกเลี้ยงและดูแลกาบหอยแครงตามแบบฉบับของ TrapBlossom ดังต่อไปนี้ครับ
- เครื่องปลูก : ขุยมะพร้าว , ขุยผสมมะพร้าวสับ หรือ sphagnum moss ผสมเพอร์ไลท์
* ควรหมั่นเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ทุกๆ 1-2 ปี
- น้ำ : น้ำฝน , น้ำบ่อ หรือน้ำประปาที่พักน้ำจนปลอดคลอรีน
* สามารถปลูกได้ทั้งแบบแช่และไม่แช่น้ำ
- แสงแดด : สามารถปลูกเลี้ยงได้ทั้งกลางแจ้งไปจนถึงพรางแสง 50-60 %
- อากาศ : กาบหอยแครงส่วนใหญ่สามารถเจริญเติบโตภายใต้สภาพอากาศของประเทศไทยได้ดี
- ปุ๋ย : สามารถให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าได้ (ควรให้ปริมาณน้อย) หรืออาจป้อนแมลงเหยื่อ เช่น มด , ยุง , แมลงวัน , ตั๊กแตน ฯ
- โรคและแมลงศัตรู : กาบหอยแครงมักมีปัญหาเน่าตายได้ง่าย อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
1). สภาพเครื่องปลูกเก่าเกินไป
2). อุณหภูมิในเครื่องปลูกร้อนเกินไป
3). เกิดจากเชื้อราเมล็ดผักกาด ควรหมั่นให้ยาไวตาแวกซ์เป็นประจำ
สรุป
การปลูกเลี้ยงและดูแลกาบหอยแครงนั้นเป็นเรื่องสนุกซึ่งวิธีการปลูกเลี้ยงและดูแลข้างต้นเป็นเพียงหลักการคร่าวๆทั่วไป การนำไปใช้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกอย่างเพราะสภาพแวดล้อมแต่ละที่นั้นแตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือการทดลองซ้ำๆและรู้จักสังเกตุ ผมเชื่อว่าทุกท่านก็สามารถปลูกกาบหอยแครงให้สวยได้ ขอให้สนุกกับการปลูกกาบหอยแครงครับ
Jirawat Iamkulworapong : TrapBlossom