Sarracenia care

การปลูกเลี้ยงและดูแลซาราซีเนีย

การปลูกเลี้ยงและดูแลซาราซีเนียสามารถทำได้หลายวิธีและไม่มีสูตรตายตัว สิ่งที่ผมจะแนะนำต่อไปนี้เป็นเพียงหลักกว้างๆที่ผมใช้ปลูกและดูแลซาราซีเนียในสวน TrapBlossom ซึ่งได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจครับ

  • เครื่องปลูก : ขุยมะพร้าวล้วน , มะพร้าวสับล้วน , ขุยผสมมะพร้าวสับ หรือ sphagnum / peat moss
  • น้ำ : น้ำฝน , น้ำบ่อ หรือน้ำประปาที่พักน้ำจนปลอดคลอรีน

*ไม่ควรกรอกน้ำเข้าไปในกรวยใบของซาราซีเนีย เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยัง ทำให้กรวยใบหักล้มได้ง่ายอีกด้วย (ยกเว้น S.purpurea และลูกผสมที่มีลักษณะฝาใบเปิดที่จะพบน้ำฝนขังอยู่ภายในกรวยใบตามธรรมชาติ อยู่แล้ว) สามารถวางกระถางปลูกบนถาดรองน้ำหรือไม่แช่น้ำก็ได้เช่นกัน

  • แสงแดด : สามารถปลูกได้ทั้งสภาพกลางแจ้งไปจนถึงพรางแสง 50% (ไม่ควรปลูกในที่ร่มหรือรำไร เพราะจะทำให้ซาราซีเนียอ่อนแอ และสีสันไม่สวยงาม)
  • อากาศ : ซาราซีเนียสามารถปลูกเลี้ยงในสภาพอากาศร้อนแบบประเทศไทยได้ดี ควรปลูกในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีเพื่อป้องกันโรคเน่า
  • ปุ๋ย : สามารถให้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าได้ไม่เกิน 4 เม็ดต่อกระถางเฉพาะช่วงที่ยังเป็นไม้เล็ก(กระถางขนาดตั้งแต่ 2.5-4 นิ้ว) เมื่อโตเป็นไม้รุ่นกรวยใบพัฒนาเต็มที่ไม่ควรให้ปุ๋ยใดๆอีก ควรปล่อยให้ซาราซีเนียหาแมลงเหยื่อเอง การให้ปุ๋ยไม่ว่าชนิดใดก็ตามในปริมาณมากเกินไปจะเป็นสาเหตุให้รากซาราซีเนียไหม้และตายในที่สุด (fertiliser burn) อาการคล้ายกับรากและเหง้าเน่าเนื่องจากเชื้อรา (root rot) ยกเว้นการเลี้ยงในสภาพปิดเช่นในตู้กระจก ในโรงเรือน evap. สามารถให้ปุ๋ยได้ในปริมาณน้อย หรืออาจป้อนแมลงเหยื่อในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป
  • การพักตัว : ตามธรรมชาติซาราซีเนียจะพักตัวในฤดูหนาว แต่ในประเทศไทยไม่พบการพักตัวที่ชัดเจนอาจเจริญเติบโตช้าลงบ้างใบหน้าหนาว
  • โรคและแมลงศัตรู :

1) พบปัญหาเหง้าซาราซีเนียเน่าตายง่าย เกิดจากเชื้อราในดินชื่อ botrytis cinerea ควรฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อราเช่น เมทาแลคซิล คาร์เบนดาซิม หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดเชื้อสด เป็นประจำ และหมั่นเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ทุกๆ 1-2 ปี

2) เพลี้ยไฟ เป็นแมลงศัตรูสำคัญของซาราซีเนียพบระบาดในช่วงหน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ชอบดูดน้ำเลี้ยงใบอ่อนทำให้ใบหงิกงอผิดรูป ควรฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลงเช่น คาร์โบซัลแฟนสลับกับอะบาเมกตินหรือฟิโพรนิล

สรุป

การปลูกเลี้ยงและดูแลซาราซีเนียให้ได้ผลดีนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าความรู้ก็คือ “ประสบการณ์” บทความด้านบนเป็นเพียงแนวทางคร่าวๆเป็นธรรมชาติของซาราซีเนียที่ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ทำไมในเมื่อรู้ แต่ซาราซีเนียที่บ้านก็ไม่ยอมงามซักที สิ่งที่สำคัญกว่าความรู้และเป็นหัวใจของความสำเร็จนั่นก็คือ “ประสบการณ์” ครับ การทำต้นไม้ตายไม่ใช่เรื่องเสียหายเลยสิ่งสำคัญต่อจากนั้นคือคุณได้อะไรจากการตายของซาราซีเนีย ทำไมถึงตาย คุณต้องทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าและช่างสังเกตุ เช่น อากาศร้อนไปมั้ย น้ำที่ใช้แช่เน่าหรือเปล่า และจงเป็นตัวของตัวเองไม่ต้องเชื่อผม ไม่ต้องฟังใคร การที่ผมปลูกแบบนี้แล้วได้ผลดีนั่นเพราะวิธีนี้มันเหมาะกับสภาพอากาศบ้านผม ไม่จำเป็นว่ามันจะต้องใช้ได้กับทุกที่เสมอไป และสุดท้ายแน่นอนว่ากว่าจะรู้ผลคงต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่ถ้าคุณได้เห็นซาราซีเนียตอนโตเต็มฟอร์มจากฝีมือคุณเอง คุณจะรู้ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่ได้ลงทุนลงแรงไป

ศึกษาข้อมูอเเพิ่มเติมได้ที่ : How To Grow Sarracenia

Jirawat Iamkulworapong : TrapBlossom